Home2020September8ปรับตัวช่วง New Normal กับหนังสือ 5 เล่ม Life Hack ปรับตัวช่วง New Normal กับหนังสือ 5 เล่ม Bookoins Book Club เป็นคลับสำหรับคนรักหนังสือที่เชิญทั้งผู้อยากเล่าและผู้อยากฟังมานั่งจับเข่าคุยกันในบรรยากาศชิวๆ ที่ Clazy Cafe จัดโดยศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าของพอดแคสต์ Nopadol’s Story ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง OKRs มากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ดร. นภดลจัดงานนี้เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็อายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ หลังจากย้ายไปจัดแบบออนไลน์อยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้กลับมาพบหน้ากันในบรรยากาศที่คุ้นเคย ซึ่งธีมงานครั้งนี้ก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘หนังสือที่ควรอ่านเพื่อเตรียมตัวสู่ New Normal’ นั่นเองค่ะ เล่มแรกคือ Designing Your Life คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking เขียนโดย Bill Burnett และ Dave Evan เล่าเรื่องโดยคุณปัง เมื่อสิ่งที่เราทำได้ดีกับสิ่งที่เราชอบมักไม่ได้ไปด้วยกัน หรือที่คุณปังเรียกว่า ‘คำสาปคนฉลาด’ ฟังดูน่ากลัว แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณสามารถหลุดจากคำสาปนี้และออกแบบชีวิตตัวเองใหม่ด้วยกระบวนการ Design Thinking ข้อแรกที่คุณต้องทำคือการตั้งคำถามและสำรวจความสนใจของตัวเอง โดยคุณปังแนะนำว่าเราสามารถทำ mind map เพื่อแบ่งสิ่งที่เราทำได้ดีออกมาเป็นข้อๆ แล้วจึงวิเคราะห์ว่าสามารถต่อยอดได้อย่างไรบ้าง ต่อมาคือการพูดคุยกับผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น นาย A ชอบทำอาหารมาก จึงอยากเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง ซึ่งสถิติบอกว่าธุรกิจที่เปิดตัวเยอะที่สุดต่อปีคือร้านอาหาร และธุรกิจที่ปิดตัวเยอะที่สุดก็คือร้านอาหารเช่นเดียวกัน เพราะอะไร? เพราะว่าทักษะที่ใช้ทำอาหาร กับทักษะที่ใช้เปิดร้านอาหาร ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งที่คุณทำได้คือการพูดคุยกับคนที่เปิดร้านอาหาร เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายคือการสร้างต้นแบบ (prototypes) และทดลอง ชวนเพื่อนหรือคนรู้จักมาชิมเมนูของร้าน รับฟังข้อเสนอแนะและนำไปแก้ไข รวมไปถึงการคำนวนต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อพิจารณาความพร้อมของคุณในการเดินหน้าทำสิ่งนี้ต่อไปนั่นเอง เล่มที่ 2 คือ The Invincible Company เขียนโดย Dr. Alexander Osterwalder, Yves Pigneur และ Alan Smith เล่าเรื่องโดยคุณทศ คุณทศได้สรุป 3 หลักการที่จะทำให้บริษัทของคุณไร้พ่าย! อย่างแรกคือ ‘constantly revinvent yourself’ สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โลกทุกวันนี้หมุนเร็วมาก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและทำให้การแข่งขันดุเดือดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงแค่หยุดเดินก็เท่ากับถอยหลังแล้ว! ต่อมาคือ ‘compete on superior business models’ โมเดลธุรกิจนั้นสำคัญกว่าที่คุณคิด เช่น IKEA เน้นผลิตสินค้าคุณภาพดี ในราคาที่จับต้องได้ พร้อมขนส่งสะดวก และประกอบเองได้ง่ายๆ โมเดลธุรกิจที่เหนือกว่าทำให้ IKEA เอาชนะคู่แข่งไปได้ และสุดท้ายคือ ‘transcend industry boundaries’ ก้าวข้ามขอบเขต(ลวงตา)ของอุตสาหกรรม เช่น ธนาคารเริ่มลงทุนในวงการฟู้ด ดีลิเวอรี หรือกระทั่งร้านชาบูที่พาร์ทเนอร์กับคลีนิคเสริมสวย ซื้อชุดชาบูแถมฟรีโบท็อกซ์มีอยู่จริง! เล่มที่ 3 คือ The Best Place to Work เขียนโดย Ron Friedman เล่าเรื่องโดยคุณมิก ว่าด้วยเรื่องศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอดด้วย 3 อย่างหลักๆ คือ เล่น / เกม / ล้มเหลว เมื่อบริษัทจ้างคุณมา ‘เล่น’เมื่อโลกของ ‘เกม’ สอนให้คุณรู้จักประยุกต์เมื่อบริษัทที่ประสบความสำเร็จให้รางวัลกับ ‘ความล้มเหลว’ รวมข้อคิดจากงานวิจัยสำหรับผู้ที่อยากออกแบบและลงแรงสร้างที่ทำงานในฝัน เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ นวัตกรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานทุกคน เล่มที่ 4 คือ โลกหมุนรอบกลัว เขียนโดย ผมอยู่ข้างหลังคุณ เล่าเรื่องโดยคุณวิคเตอร์ เข้าใจความกลัวผ่านประวัติศาสตร์ เรื่องเหนือธรรมชาติ ผี ปีศาจ แม่มด ความเครียด และเรื่องเลวร้ายในชีวิต ชวนทุกคนมาทำความรู้จักความกลัวแต่ละชนิด ลดการปรุงแต่ง เข้าใจ mindfulness และอื่นๆ มนุษย์มักกลัวเรื่องที่อธิบายไม่ได้หรือเข้าใจยาก เช่น โควิด-19 ช่วงระบาดใหม่ๆ ไปจนถึงโรคทางจิตเวชทั้งหลาย ซึ่งคุณวิคเตอร์ก็ได้แนะนำเทคนิค FAST สำหรับปรับความคิดและพฤติกรรมที่มีความกลัวและความไม่เข้าใจเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อที่คุณจะได้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีสติมากขึ้นดังนี้ Fact เช็คข้อมูลว่าจริงไหม?Alternative คิดเป็นอย่างอื่นได้ไหม?So what? ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ?Toll คุ้มค่าไหมกับราคาที่ต้องจ่าย? และเล่มสุดท้ายคือ Play Work ทำงานให้สนุกเหมือนเล่น เขียนโดย Piotr Feliks Grzywacz เล่าเรื่องโดยดร. นภดล กลับมาที่ประเด็น ‘เมื่อสิ่งที่เราทำได้ดีกับสิ่งที่เราชอบมักไม่ได้ไปด้วยกัน’ เมื่อเราต้องเลือกระหว่างความสามารถ (ability) กับความชอบ (passion) เราควรทำอย่างไร ดร. นภดลสรุปให้ฟังทั้งหมด 4 ข้อหลักๆ ดังนี้ หนึ่งคือ self-awareness ทำความเข้าใจว่าอาชีพกับตำแหน่งไม่ได้ชี้ขาดตัวตนของ ‘คุณ’ คอยสำรวจความสนใจของตัวเอง สิ่งที่คุณทำได้ดีเสมอในสายตาคนอื่นนั้นสามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้หรือไม่ เช่น นาย A มีฉายาว่าเจ้าพ่อ Excel เพราะใช้เก่งมาก เขาตัดสินใจพัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและเปิดคอร์สสอนอย่างจริงจังในที่สุด สองคือ self-disclosure เปิดเผยสิ่งที่เราชอบหรือถนัดให้คนอื่นรู้บ้าง ไม่ควรรอหวังน้ำบ่อหน้า แต่จงคว้าโอกาสมาเป็นของตัวเอง เช่น หัวหน้าไม่เคยมอบหมายงานที่คุณชอบให้คุณทำ (เพราะเขาอาจจะไม่รู้) สิ่งที่คุณทำได้คือการเสนอตัวเองสำหรับงานนั้นๆ ทันทีโดยไม่ต้องรอ สามคือ self-expression สื่อสารคุณค่าของตัวเองออกไปให้ผู้อื่นรับรู้ ต่อยอดความรู้และทักษะของตัวเอง พร้อมออกจาก safe zone เพื่อเดินไปในทิศทางที่คุณสนใจ และสุดท้ายคือ self-realisation ตระหนักรู้ว่า ‘แม้ทำงานไปด้วยก็บรรลุสิ่งที่ตัวเองเป็นได้นั่นเอง’ หนังสือทั้ง 5 เล่มล้วนเป็นแหล่งข้อมูลและแรงบันดาลใจชั้นดีที่ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยคำตอบสุดท้ายอาจแตกต่างกันไปตามโจทย์ชีวิตของแต่ละคน บางคำถามอาจไม่ได้คำตอบตอนนั้นหรอก แต่ถ้ามันทำให้เราฉุกคิดและทบทวนตัวเองได้ ก็คุ้มแล้วล่ะ สำหรับการเป็นคำถาม #THEBOATZAA Share this:Click to share on Twitter (Opens in new window)Click to share on Facebook (Opens in new window)Like this:Like Loading... Related Pakkanun Piyanutpoon #THEBOATZAA Share This Previous Article5 ภาษารักเพื่อดูแลสัมพันธ์ภาพดีๆ Next Articleงาน 6 แบบที่เราต้องจัดการในช่วงงานยุ่ง September 8, 2020